Love Kids : “เด็กอ้วน” น่าห่วงมากกว่าน่ารัก

 

 

เด็กอ้วนจ่ำม่ำ น่ารัก น่าเอ็นดู แก้มยุ้ยสีแดง ขนาดแขนเป็นปล้องๆ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าน่าจะเป็นเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรง

ประกอบกับความหวังดีของพ่อแม่ที่ชอบให้กินเยอะๆ จะได้ไม่หิว จริงๆ แล้ว หากไม่คำนึงถึงความพอดีของการกิน

บวกกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเด็กเอง ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเป็น โรคอ้วนได้ง่ายๆ 

 

ลูกถูกล้อเลียนว่าอ้วน ต้องทำยังไงดี?
พ่อแม่ให้กำลังใจลูกได้ดีที่สุด เปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูกเจอ และบอกว่าการถูกคนอื่นล้อเลียนไม่ใช่เรื่องน่าอาย       และไม่ได้เป็นเรื่องผิด ควรสร้างความมั่นใจให้กับลูก มองให้เห็นคุณค่าและข้อดีในตนเอง คิดถึงเรื่องราวดีๆ      ที่เคยทำ ลูกเป็นคนเก่งที่พ่อแม่ภูมิใจที่สุด และควรคุยกับลูกถึงวิธีจัดการเมื่อถูกล้อเลียน แนะนำว่า              ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า บอกกล่าวตักเตือนว่าไม่ชอบ หากเพื่อนยังไม่ยอมหยุด ให้แจ้งครูหรือพ่อแม่    ช่วยจัดการ 

Note: พ่อแม่สร้างวินัยละพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์ได้ ลองชวนลูกทำอาหารด้วยกันเลือกเมนูที่ลูกชื่นชอบ เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาหาร ทำให้รู้สึกว่าการกินผัก-ผลไม้เป็นเรื่องสนุกสนาน เมื่อลูกลดน้ำหนักและปรับการกินได้ ควรให้คำชมเชยและให้กำลังใจ

 

 
 
 
โรคอ้วนรักษาได้ ไม่ต้องใช้ยา
แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะวินิจฉัยโดยพิจารณาจากการวัดน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็ก และประเมินภาวะสุขภาพร่วมด้วย เพื่อดูว่าเด็กเป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน และจะทำการรักษาด้วยการแนะนำอาหาร      ที่เหมาะสม กิจกรรมที่ควรทำ และวิธีควบคุมน้ำหนัก โดยจะติดตามทุก 2-6 เดือนแล้วแต่กรณี
 
 
 
 
 
ทางรอด หนีโรคอ้วนในเด็ก
• เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตั้งแต่เกิดถึง 6 เดือน เพราะนมแม่มีสารอาหารที่เหมาะสมและครบถ้วนตามวัย
• คุมน้ำหนักได้ ไม่ต้องอด กินแต่พอดี ไม่อิ่มเกินไป ไม่อดมื้อเช้า เพิ่มผักกากใย ลดแป้ง-หวาน-มัน-ทอด ขนมขบเคี้ยว
• ชวนลูกเล่น = ไม่เป็นเด็กอ้วน พาไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30-60 นาที ช่วยเสริมสร้างการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ในเด็ก 

 

 

 

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • เรื่อง “เด็กไทยกับนิสัยการกิน” คอลัมน์หน้าต่างวิจัย นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 288
  • แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและรักษาโรคอ้วนในเด็ก พ.ศ. 2557 ชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  • บทความ โรคอ้วนในเด็ก เว็บไซต์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก