ทันทีที่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ สำหรับว่าที่คุณแม่แล้ว คงมีทั้งความสุข ความตื่นเต้น และความกังวลใจไปพร้อมกัน ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถรับมือกับช่วงเวลาอันแสนพิเศษแต่สุดท้าทายนี้ได้ คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ รวมถึงวิธีการดูแลลูกน้อยในครรภ์ให้เติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง
การดูแลตัวเองและลูกน้อยในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์
ไตรมาสที่ 1 ตั้งครรภ์ระยะแรก (อายุครรภ์ 1-14 สัปดาห์)
การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และอาการที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
- ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่อาจยังไม่แสดงให้เห็นชัดเจน แต่อาจมีอาการดังนี้
- น้ำหนักร่างกายยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก หรือเพิ่มขึ้น 1-3 กิโลกรัม
- มีอาการแพ้ท้อง อาเจียน หรือวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- เต้านมขยายขึ้น รู้สึกคัดตึง และเจ็บ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อยากนอนพัก
- โดยอาการแพ้ท้องของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ปกติแล้วอาการแพ้ท้องจะอยู่ที่ประมาณ 4-15 สัปดาห์
การดูแลตัวเองและลูกน้อย
- ในช่วงนี้จะเป็นช่วงการปรับตัวเข้าสู่การเป็นคุณแม่มือใหม่ จึงควรทำใจให้สบาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารตามความเหมาะสม แต่หากรู้สึกว่าอาการของตัวเองเริ่มผิดปกติ หรือรุนแรงเกินไปก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ทันที
- อาหาร ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รวมถึงมีโฟเลตสูง เช่น ผักใบเขียว ธัญพืช และเสริมธาตุเหล็ก
- การฝากครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ครั้งแรก และตรวจสุขภาพอย่างละเอียด
- การฉีดวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการรับวัคซีน เช่น วัคซีนบาดทะยัก
- ทั้งนี้ หากมีสัญญาณผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือปวดท้องรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที
ไตรมาสที่ 2 ช่วงเวลาที่ร่างกายเริ่มปรับตัว (14-27 สัปดาห์)
การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และอาการที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ จะเริ่มรู้สึกสบายขึ้น เนื่องจากช่วงแพ้ท้องผ่านพ้นไป โดยมีอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนี้
- รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น อาจทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 1-1.5 กิโลกรัมต่อเดือน
- เริ่มรู้สึกได้ว่าลูกดิ้น ในสัปดาห์ที่ 16-22
- ใบหน้า คอ ลำตัว รักแร้ หมองคล้ำขึ้น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- มีเส้นดำเป็นทางยาวกลางท้อง ตั้งแต่สะดือลงไปถึงหัวหน่าว เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- ตกขาว หรือมีมูกในช่องคลอด เนื่องจากการเพิ่มของระดับฮอร์โมน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องผูก เนื่องจากระบบย่อยอาหารทำงานไม่เป็นปกติ
- เป็นตะคริวบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน
การดูแลตัวเองและลูกน้อย
- ในช่วงไตรมาสนี้คุณแม่บางคนจะเริ่มมองหาชุดคลุมท้องมาใส่ เพื่อสร้างความรู้สึกสบายตัว เพราะร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการดูแลตัวเองและลูกในครรภ์ มีดังนี้
- อาหาร ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น
- นมและโยเกิร์ต เพื่อเสริมสร้างกระดูกของลูก
- ผัก ผลไม้ ที่มีกากใยสูง เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
- ธาตุเหล็ก จากไข่แดง ตับ และผักใบเขียว เพื่อการสร้างเม็ดเลือดให้เพียงพอ ต่อการลำเลียงสารอาหารและออกซิเจน ไปเลี้ยงลูกน้อยในครรภ์
- การออกกำลังกาย ทำโยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือเดินเบา ๆ ช่วยให้คลอดง่ายขึ้น
- ท่านอน ควรนอนตะแคงซ้ายหรือขวา สลับกับการนอนหงาย เพื่อช่วยลดแรงกดทับลงบนร่างกาย และควรใช้หมอนรองขาให้สูงขึ้น เพื่อลดอาการบวมของขา
ทั้งนี้ หากพบสัญญาณผิดปกติ เลือดออกทางช่องคลอด หรือมีอาการบวมบริเวณมือและเท้ารุนแรง หรือปวดท้องร่วมกับมีไข้ ให้รีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
ไตรมาสที่ 3 การเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด (28-40 สัปดาห์)
การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และอาการที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
- ช่วงนี้รูปร่างของคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถสังเกตได้ ดังนี้
- น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม หรือเดือนละราว ๆ 2-2.5 กิโลกรัม
- คุณแม่มือใหม่จะเจริญอาหารมากที่สุด อยากรับประทานสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเสียหมด ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจไป นั่นเป็นเพราะลูกในท้องกำลังเติบโต ทั้งทางสมองและร่างกาย
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะโดนเบียด เพราะขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้น
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แต่นอนไม่หลับ หลับยาก
- รู้สึกอึดอัด เพราะมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้น
- ปวดหลัง เนื่องจากต้องเดินแอ่นหลังเวลายืน เดิน หรือนั่ง เพื่อประคองทารกในครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น
- เกิดตะคริวบ่อยขึ้น เพราะกล้ามเนื้อขาทำงานผิดปกติ
การดูแลตัวเองและลูกน้อย
ส่วนของการดูแลตัวเองและลูกน้อยในช่วงไตรมาสนี้ มีดังนี้
- อาหาร ควรรับประทานอาหารที่ประโยชน์ต่อร่างกาย
- อาหารย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก
- โปรตีนคุณภาพสูง เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา
- ผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ
- แคลเซียม เช่น ปลาตัวเล็กทานทั้งก้างได้ หรือนม
- เตรียมของใช้ทารกแรกเกิด ควรจัดเตรียมเสื้อผ้า ผ้าอ้อม และของใช้เด็กอ่อนไว้ให้พร้อม เผื่อเวลาที่เจ็บท้องคลอด จะได้ไปโรงพยาบาลได้ทันที
- การตรวจครรภ์ โดยในช่วงนี้ต้องพบแพทย์บ่อยขึ้น เพื่อตรวจสุขภาพของแม่และลูก อีกทั้งเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนคลอด
- หากสังเกตเห็นสัญญาณผิดปกติ หรือมีอาการน้ำเดิน เจ็บท้องเป็นจังหวะ หรือการขยับตัวน้อยลงของลูกในครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีการคลอด
รูปแบบการคลอดที่นิยมกันในปัจจุบันมี 2 วิธี คือการคลอดแบบธรรมชาติ และการผ่าคลอด ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันออกไป ซึ่งข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ จะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติ และตัดสินใจเลือกวิธีคลอดที่เหมาะสมกับคุณแม่ได้ง่ายขึ้น
คลอดแบบธรรมชาติ
การคลอดแบบธรรมชาติ เป็นวิธีการพื้นฐานที่รู้จักกันดี ข้อดีก็คือมีขนาดแผลที่เล็กกว่า คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็ว และทารกก็จะแข็งแรงด้วยภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติ แต่ทั้งนี้อาจจะมีความเจ็บปวดในตอนคลอดมากกว่าการผ่าคลอด และไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาคลอดได้
การผ่าคลอด
การผ่าคลอดเป็นหนึ่งในวิธีที่ปลอดภัยและได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถกำหนดวันเวลา และฤกษ์ในการคลอดได้เอง ปกติคุณแม่ที่ผ่าคลอดจะฟื้นตัวภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนเรื่องแผลเป็นที่หลายคนกังวลอาจจะใช้เวลาประมาณ 6สัปดาห์ เพื่อให้แผลหายสนิท
สำหรับความเสี่ยงที่สามารถเกิดจากการผ่าคลอดได้ เช่น คุณแม่อาจเสี่ยงต่อการแพ้ยา และเสียเลือดมาก แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันบวกกับความชำนาญของแพทย์ทำให้การผ่าคลอดของคุณแม่และลูกน้อยเป็นไปได้อย่างปลอดภัย และราบรื่น
เมื่อคุณแม่มือใหม่มีความมั่นใจในการดูแลลูกน้อยในครรภ์มากขึ้น และพร้อมสำหรับการคลอดลูกแล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมแบ่งเวลามาทำเช็กลิสต์ของใช้ทารกแรกเกิด เพื่อเตรียมไว้ให้พร้อมรอต้อนรับเจ้าตัวน้อย The Selection ขอเสนอสินค้าสำหรับเด็ก ของใช้สำหรับเด็กอ่อน พร้อมรับโปรโมชันดี ๆ คลิก https://www.theselectionth.com/product-category/momkids/kids/
แหล่งข้อมูล
คุณแม่มือใหม่ควรรู้…วิธีดูแลลูกน้อยตลอดการตั้งครรภ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 จาก https://www.paolohospital.com/th-th/center/Article/Details/คุณแม่มือใหม่ควรรู้—วิธีดูแลลูกน้อยตลอดการตั้งครรภ์
“The Selection” แพลตฟอร์มที่คัดสรรผลิตภัณฑ์และบริการจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ