All You Can Be ที่สุดของการดูแลสุขภาพ สู่การมีสุขภาพดียกระดับ

ร่างกายและอวัยวะของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา เมื่ออายุมากขึ้นย่อมเสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้สภาวะร่างกายก่อนเกิดความเจ็บป่วย คือ การตรวจสุขภาพซึ่งจะช่วยให้เรารับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรู้จักดูแลตัวเองให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์  The Selection ขอแนะนำโปรแกรมตรวจสุขภาพ All You Can Be จากเครือโรงพยาบาลพญาไท ด้วยการตรวจโดยเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงที่ทำให้เราสามารถตรวจสุขภาพแบบองค์รวมซึ่งลงลึกถึงระดับยีนได้พิเศษกว่าการตรวจสุขภาพทั่วไปที่เปลี่ยนจากการตรวจเพื่อรักษาเป็นการป้องกัน เพื่อการมีสุขภาพที่เหนือระดับให้เรามีชีวิตดีแบบไม่มีที่สิ้นสุด

Beyond Health Excellence ไขความลับ รู้จักร่างกายลงลึกถึงระดับ DNA

  • ระดับวิตามิน เกลือแร่ สารอนุมูลอิสระ และสารต้านอนุมูลอิสระ
  • สารพิษและโลหะหนักในร่างกาย
  • ระดับฮอร์โมน
  • ตรวจ DNA ในเชิงลึก

โปรแกรมตรวจสุขภาพ All You Can Be แตกต่างจากการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับ DNA เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้ม ความเสี่ยงในการเกิดโรค, ความเสี่ยงต่อสภาพพันธุกรรมและความสามารถในการตอบสนองต่อการรักษา เพื่อหาแนวทางการรักษาให้เหมาะสมได้ อย่างถูกต้องและตรงจุดที่สุด สู่การมีสุขภาพดีในระยะยาว

เช็กทุกมิติการดูแลร่างกาย

  • Basic Checkup รายการตรวจพื้นฐาน
  • Advance Checkup รายการตรวจเฉพาะทาง
  • Advance Anti-Aging รายการตรวจเพื่อดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และอวัยวะ

แนวทางการดูแลสุขภาพในรูปแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อคุณโดยเฉพาะ

  • ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ใส่ใจสุขภาพและต้องการมีชีวิตที่ยืนยาว
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีโรคประจำตัวหรือมีประวัติโรคร้ายแรง
  • ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร เพื่อคัดกรองโรคทางพันธุกรรม
  • ผู้มีประวัติแพ้ยา หรือมีโอกาสเสี่ยงแพ้ยาบางชนิด
  • บุคคลทั่วไปที่ต้องการทราบข้อมูลสุขภาพอย่างละเอียดและ
    ความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ

เตรียมพร้อมก่อนตรวจ

  • การเจาะเลือด งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
  • การ Swab เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณกระพุ้งแก้ม งดอาหารและเครื่องดื่ม 1-2 ชั่วโมง

ยกระดับทุกมิติ เพื่อการมีชีวิตที่ดีแบบไม่สิ้นสุด กับโปรแกรมตรวจสุขภาพ All You Can Be โทร. 1772

• โรงพยาบาลพญาไท 1, 2 และ 3
• โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน
• โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

จำหน่ายตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2567

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

ป่วยโรคนี้ กินอะไรดีนะ?

เรื่องอาหารเป็นส่วนสำคัญของสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโรคประจำตัวยิ่งต้องเลือกกินให้เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายของเราแข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมต่อสู้กับอาการของโรคให้ได้มากที่สุด The Selection ขอแนะนำการเลือกกินในแต่ละมื้อของแต่ละโรคอย่างมีประโยชน์และได้คุณค่าสารอาหาร เหมาะสม ดังนี้

โรคเบาหวาน

ใส่ใจอาหารเพื่อรักษาระดับ น้ำตาลในเลือดและควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรต เพื่อชะลออาการของโรคและป้องกันโรคแทรกซ้อน

อาหารที่แนะนำ: เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชไม่ขัดสี ผักสดและผักสุก ผลไม้ปริมาณไม่เกิน 1 กำมือ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง: ข้าว แป้ง ผลไม้รสหวานจัด

โรคไต

ผู้ป่วยในแต่ละระยะจะมีข้อจำกัดต่างกันขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์

ระยะก่อนฟอกไต ควบคุมอาหารเพื่อชะลอความเสื่อมของไต

อาหารที่แนะนำ: เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นม ข้าวแป้ง ถั่วและเต้าหู้

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง: เนื้อสัตว์แปรรูป ของหมักดอง เช่น ปลาเค็ม ไข่เค็ม ไส้กรอก กุนเชียง เบคอน

ระยะหลังฟอกไต ควบคุมอาหารเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

อาหารที่แนะนำ: ประเภทเดียวกับระยะก่อนฟอกไต ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 1-2 ลิตร เพื่อให้การขับถ่ายเป็นไปตามปกติ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง: หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ถั่ว เครื่องดื่มที่มีสีดำ รวมถึงมะม่วง ทุเรียน ลิ้นจี่ ขนุน ลำไย เงาะซึ่งมีโปแตสเซียมปริมาณมาก เสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้น

โรคเกาต์

จำกัดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เพื่อไม่ให้สะสมในร่างกายมากเกินไป

อาหารที่แนะนำ: ข้าวกล้อง อกไก่หรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมไขมันต่ำ ถั่วเปลือกแข็ง ผลไม้รสหวานน้อย

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง: อาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) สาเหตุให้เกิดกรดยูริก ได้แก่ สัตว์ปีก (น่อง สะโพก หรือปีก) เครื่องในสัตว์ ยอดผัก เครื่องดื่มน้ำตาลสูงและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โรคหัวใจและหลอดเลือด

สิ่งสำคัญคือต้องกินยาลดระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการกินอาหารที่เหมาะสม

อาหารที่แนะนำ: เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อหมูสันใน อกไก่ ไข่ขาว ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง: ขาหมู หมูสามชั้น หนังสัตว์ เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ไข่นกกะทา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง หมักดองและแช่แข็ง

เพราะสุขภาพดี สร้างได้ด้วยตัวเอง เพียงใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้น ไม่ว่าจะมีภาวะสุขภาพเป็นเช่นไร หากควบคุมประเภทอาหารให้เหมาะสมกับโรคที่เป็น ควบคู่ไปกับการกินยาตามเวลาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เป็นอีกวิธีหนึ่งของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ลดความเสี่ยงโรคและลดอาการแทรกซ้อนได้เช่นกัน

เรียบเรียงข้อมูลจาก
• อาหารเฉพาะโรค วิธีเลือกกินอาหารเมื่อมีโรคประจำตัว โดย eatwellconcept.com
• อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Stroke In The Young วัยทำงานอายุน้อย ก็เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้

ถึงแม้ว่าโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ โดยมักเพิ่มขึ้นตามอายุและปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่ เป็นต้น แต่โรคหลอดเลือดสมองยังสามารถพบได้ในคนที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี ซึ่งจะเรียกว่า “โรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย” หรือ Stroke In The Young ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อยจะมีความหลากหลายมากกว่าในคนอายุมาก

Stroke In The Young เป็นได้อย่างไร?

  • หัวใจผิดปกติ มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หลอดเลือดผิดปกติ โครงสร้างหลอดเลือดสมองผิดปกติ หรือหลอดเลือดอักเสบ มักเป็นผลมาจากโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น เป็นโรค SLE
  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มักสัมพันธ์กับโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือโรคมะเร็ง

BEFAST สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง

“เวลา” เป็นปัจจัยสำคัญ หากมีอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ให้รีบเรียกรถพยาบาลทันที ควรพบแพทย์ภายใน 4 ชั่วโมง

เป็น Stroke แล้วรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้นจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุการเกิดและความรุนแรงของโรค ดังนั้น สิ่งสำคัญในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย คือ การหาสาเหตุโดยละเอียดอย่างรวดเร็วและครอบคลุมโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต พิการ หรือเสียชีวิตได้ดี

ลดความเสี่ยงเป็น Stroke

  • สำรวจสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแบบคาร์ดิโอ
  • เน้นกินผัก ผลไม้รสหวานน้อย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและมีรสจัด ทั้งรสหวาน มัน เค็ม รวมถึงอาหารแปรรูป

โรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นโรคอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ ด้วยการดูแลสุขภาพ เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ

BDMS Green Healthcare มุ่งสู่ Net Zero

โครงการ BDMS Green Healthcare เกิดขึ้นด้วยความมุ่งมั่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในเครือ BDMS เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก* จากการดำเนินธุรกิจให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 (BDMS Net Zero 2050) รวมถึงสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการกำหนดเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพ การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลและธุรกิจในเครือ BDMS ของการจัดการด้านขยะ พลังงานและน้ำเสีย อย่างเหมาะสม สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและความใส่ใจในการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมด้วยความรับผิดชอบ

  • ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ในเครือ BDMS มากกว่า 50% ช่วยลดก๊าซ CO2 เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 50,000 ต้น
  • มุ่งเป้ารีไซเคิลขยะ ให้ได้มากกว่า 26%

ปีที่ผ่านมามีโรงพยาบาลและบริษัทในเครือ BDMS เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน18 แห่งที่จัดทำโครงการ ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการคำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ลดได้ผ่านการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scherne: LESS) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในเครือ BDMS ร่วมส่งผลงาน จำนวน 4 โครงการ อาทิ “โครงการขวดน้ำดื่มไร้ฉลาก” โดย กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพและกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช, “โครงการ Waste DD” โดย โรงพยาบาลพญาไท 2 ที่ร่วมมือกับบริษัทภายนอกนำขยะรีไซเคิลไปผลิตเป็นกระดาษ ถุงดำ และชุด PPE ซึ่งโครงการเหล่านี้ สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 2,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเลยทีเดียว

เครือ BDMS มุ่งพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และยังคงยึดมั่นในการผู้นำบริการด้านสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีบนวิถีแห่งความยั่งยืนต่อไป

*ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต มีเพียง 7 ชนิด โดยจะต้องเป็นก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เท่านั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3)

เรียบเรียงข้อมูลจาก 56-1 One Report 2566 โดย BDMS และภาพกราฟิกประกอบข่าว “BDMS ตั้งเป้าครึ่งปีหลัง ขับเคลื่อน 6 กลยุทธ์ พัฒนาต่อเนื่องสู่ความยั่งยืนทางการแพทย์”

Balance ชีวิตคนทำงาน ป้องกันก่อนป่วยด้วยการสร้างสมดุลให้สุขภาพ

วัยทำงานในประเทศไทย อายุ 18-59 ปี มีมากถึง 40 ล้านคน จำนวนเกินครึ่งและมากกว่าประชากรวัยอื่น ๆ ของประเทศ ทุกคนต่างใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและรวดเร็ว นั่งทำงานหน้าจอนาน ๆ บวกกับความกดดันจากภาระงาน การแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพอาจเป็นเรื่องที่ถูกละเลยไป The Selection ขอแนะนำเคล็ดลับการดูแลสุขภาพสำหรับคนวัยทำงานได้ดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ สร้างภูมิคุ้มกันก่อนป่วยมาฝากกัน

กินของว่างแบบ Healthy ที่ออฟฟิศ

ทำงานยุ่งทั้งวัน ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ควรงดมื้อเช้าแล้วรวบไปกินทีเดียวตอนเที่ยง เพราะหากทำเป็นประจำจะส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนภายในร่างกายที่ไม่ปกติ ลองปรับไลฟ์สไตล์เท่าที่ทำได้ ลดเค็ม ลดโซเดียมลง หากรู้สึกไม่สดชื่นยามบ่าย ใครที่เคยสั่งน้ำชา น้ำชงระดับความหวานปกติ รู้หรือไม่ว่าน้ำตาลในเลือดจะพุ่งสูงปรี๊ด แถมกระตุ้นฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ แนะนำให้ลดระดับความหวานลงสักครึ่งนึง หรือจะเลือกเป็นของว่างประเภทต้มหรือนึ่งก็มีประโยชน์ต่อร่างกายเหมือนกันนะ

เวลลี่แนะนำของว่างแคลอรีต่ำ

  • ฟักทองนึ่ง 100 กรัม = 26 กิโลแคลอรี
  • ฝรั่งสดครึ่งผล = 60 กิโลแคลอรี
  • ข้าวโพดต้ม 100 กรัม = 80 กิโลแคลอรี
  • โยเกิร์ตรสธรรมชาติ สูตรไขมัน 0% = 90 กิโลแคลอรี
  • มันเทศนึ่ง 2 ชิ้น + แคนตาลูป 4 ชิ้น + กาแฟดำ = พลังงาน 96 กิโลแคลอรี

นอนดี ร่างกายสร้างฮอร์โมนต้านแก่

ลองสังเกตตัวเองสักหน่อย หากช่วงกลางวันมีภาวะหิวง่าย อาจเป็นเพราะนอนไม่พอทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเลปติน (Leptin) สารที่มีบทบาทควบคุมความหิวได้น้อยลง ยิ่งกินเยอะ น้ำหนักตัวเลยเพิ่มขึ้น สุขภาพไม่ดีเป็นทุนเดิม บวกกับความเหนื่อยล้าจากการทำงาน เครียดตลอดเวลา จะส่งผลให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตล้า ส่งผลให้ร่างกายไม่สดชื่น แม้จะหนักหนาแค่ไหน ถึงเวลาพักก็ต้องนอนให้เต็มที่ การนอนที่ดีจึงเปรียบเสมือนช่วงเวลารับสิ่งดี ๆ จากธรรมชาติในร่างกายแนะนำให้เข้านอนในช่วง 23.00 – 01.00 น. เพราะสมองจะผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) มาช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ สมานแผล ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง คงความอ่อนเยาว์ไว้ได้ รวมถึงยังผลิตเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยป้องกันเซลล์ผิวหนังจากสารอนุมูลอิสระ หากนอนเต็มอิ่มและเพียงพอ รับรองว่าชะลอวัยได้แน่นอน

ไปดื่ม ไป Drink ได้ แต่อย่าลืม Exercise

สาย Hang Out หลังเลิกงาน เมื่อความสนุกจบลงแล้ว อย่าลืมหาเวลาว่างออกกำลังกาย เพราะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟินส์ (Endorphins) ที่เปรียบเสมือนมอร์ฟีนจากธรรมชาติ สร้างความสุข ทำให้จิตใจคิดในแง่บวก ที่ส่งผลให้ความเครียดลดลง แนะนำว่าควรเลือกประเภทออกกำลังกายที่หลากหลาย สลับกันไป ทั้งการสร้างกล้ามเนื้อ การยืดเหยียด คาร์ดิโอ (กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ) หลังเลิกงานลองเปลี่ยนบรรยากาศความสนุกที่บาร์เป็นการเล่นแบดมินตันกับเพื่อนดูสักแมตช์ นอกจากจะทำให้สุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉงมากขึ้นแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนอีกด้วย

 

กินยาดักก่อนป่วย ไม่ได้ช่วยทุกครั้ง

โหมงานหนักมากไป หากรู้สึกปวดหัวและเริ่มไม่สบาย หลายคนคงคิดว่า การกินยาพาราเซตามอล ป้องกันไว้ก่อนน่าจะช่วยได้ แต่ความจริงแล้วอาจเกิดผลข้างเคียงมากกว่าช่วยบรรเทาอาการ เสี่ยงต่อตับและไตที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายาแต่ละชนิดออกฤทธิ์แตกต่างกัน แบ่งเป็นยาประเภทที่มีข้อบ่งใช้ คือ ออกฤทธิ์เพื่อป้องกันอาการ เช่น เมาเรือ แก้อาเจียน และยาประเภทที่ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการ คือ ออกฤทธิ์เมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว เช่น เป็นไข้ มีอาการปวดตามส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลหรือยาคลายกล้ามเนื้อที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการ ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่ากินดักไว้ก่อนจะได้หายหรือไม่มีอาการ แต่ไม่ใช่วิธีการป้องกันและรักษาโรคที่แท้จริง ดังนั้น หากรู้สึกไม่สบายแนะนำให้ดูแลตนเองในเบื้องต้นด้วยการพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ ปรึกษาเภสัชกรหรือพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค จึงจะปลอดภัยที่สุด รวมถึงการกินอาหารเสริมประเภทวิตามินเสริมสุขภาพ ควรศึกษารายละเอียดและอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อประเมินขนาดการบริโภคและประเภทของวิตามินที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน

          สร้างผลงานให้องค์กรอย่างยอดเยี่ยมแล้ว อย่าลืมสร้างสมดุลสุขภาพให้ชีวิตด้วย อย่าปล่อยให้ถึงวันที่มีอาการรุนแรงจึงเริ่มหันมาใส่ใจ เพราะร่างกายของเรา หากดูแลไม่ดี เสื่อมสภาพแล้วไม่อาจกลับมาเหมือนเดิมได้ หมั่นสังเกตตัวเองและปรับพฤติกรรมสุขภาพประจำวันก็เป็นอีกแนวทางในการป้องกันก่อนป่วยได้เป็นอย่างดี

เรียบเรียงข้อมูลจาก
• เทคนิคบาลานซ์ชีวิตคนทำงานแบบนี้…ทั้งแฮปปี้ ทั้งห่างไกลมะเร็งทางเดินอาหาร โดย โรงพยาบาลเปาโล
• ข้อมูลวัยทำงาน โดย ฐานข้อมูลกลาง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
• อาหารว่างเพื่อสุขภาพ ต้องไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม โดย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

Zero Food Waste แค่กินอาหารให้หมด ก็ช่วยลดโลกร้อน

เพื่อน ๆ ทราบมั๊ยว่า สาเหตุที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นนั้นเกิดจากทุกกิจกรรมที่เราทำ ซึ่งส่งผลต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพรินต์* (Carbon Footprint) วงจรการผลิตอาหารก็เช่นกัน เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก แปรรูป ขนส่ง จัดจำหน่าย การปรุงอาหาร รวมไปถึงกระบวนการสุดท้ายคือการทิ้งขยะเศษอาหาร เศษอาหารเป็นส่วนหนึ่งของขยะมูลฝอย โดยอาหารเน่าเสียจะถูกกำจัดโดยวิธีฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซมีเทน ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

  • กินให้หมดจาน ตักให้พอดี ไม่มีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มให้โลก
  • ลดการกินเนื้อสัตว์ ร้อยละ 70 ของก๊าซเรือนกระจก เกิดจากผลิตภัณฑ์ประเภทสัตว์
  • เพิ่มการกินอาหารที่มีกากใยและนมจากพืช อาหารเส้นใยสูง จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า
  • ซื้ออาหารจากท้องถิ่นหรือตามฤดูกาล ช่วยลดพลังงานขนส่ง การเก็บรักษาและการใช้สารเคมี

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาหาร**

หน่วยเป็นกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq)

แค่เพียงเราช่วยกันกินอาหารให้หมดจานลดจำนวนเศษอาหารและแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะชนิดอื่นๆก็ได้ร่วมกันช่วยลดโลกร้อนได้แล้วล่ะ

*คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ
กระบวนการผลิต การประกอบชิ้นงาน การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน รวมถึงการขนส่งที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
**ปริมาณก๊าซเรือนกระจก คิดหน่วยเป็นกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq) หรือตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

ADDWISE เข้าใจสุขภาพคุณมากขึ้น ดูแลสุขภาพคุณง่ายขึ้น

ปัจจุบันโรงพยาบาลพญาไท มีเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างโปรแกรม ADDWISE ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของคลินิกต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจของโรงพยาบาลในการสร้างฐานข้อมูลสุขภาพแบบองค์รวมภายในโรงพยาบาล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกเหนือจากให้บริการการรักษาและจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยที่นัดหมายแพทย์ตามปกติ เพื่อเป็นตัวช่วยประเมินความเสี่ยงโรคในเชิงลึกผ่านระบบ A.I.

Risk Analysis ประเมินความเสี่ยงโรค

โรงพยาบาลนำข้อมูลของผู้ป่วยย้อนหลัง 5 ปี นำมาประมวลผลผ่านโปรแกรม ADDWISE โดยจะแสดงประวัติส่วนตัว สภาวะสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ผลการตรวจวัดสัญญาณชีพและผลจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งระบบจะแสดงข้อมูลการตรวจล่าสุด ประเมินเป็นข้อมูลต่าง ๆ ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์

Doctor Recommendations แนะนำรายการตรวจโรค ผสานกับเทคโนโลยี A.I.

โปรแกรม ADDWISE จะประเมินความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ที่พบได้บ่อย คือ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด โดยวิเคราะห์จากประวัติและพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งระบบ A.I. จะแนะนำรายการตรวจเพิ่มเติม พร้อมระบุเหตุผลและรายละเอียด แสดงผลให้แพทย์รับทราบเพื่อวินิจฉัยต่อไป

โปรแกรมที่แนะนำสำหรับการตรวจเพิ่มเติม
โดยระบบ A.I. จะเรียงลำดับตามความสำคัญแบบเฉพาะบุคคล

  • CIMT (Carotid intima media thickness) การตรวจการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่คอ
  • CXR (Chest X-ray) การเอกซเรย์ปอด
  • ECHO (Echocardiogram) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง
  • EKG (Electrocardiogram) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • OCT (Optical Coherence Tomography) การตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา
  • ABI (Ankle-Brachial Index) การตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง
  • TCD (Transcranial Doppler Ultrasound) การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง
  • EST (Exercise Stress Test) การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
  • CAC (Coronary Artery Calcium Score) การตรวจหาคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ

Health Report สรุปผล เพื่อติดตามสภาวะสุขภาพ

ผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการสามารถดูรายงานประเมินความเสี่ยงสุขภาพของตนเอง โปรแกรมจะสรุปผลสภาวะสุขภาพและความเสี่ยงโรค อธิบายเนื้อหาแบบเข้าใจง่าย โดยแผนกตรวจจะพิมพ์เอกสารรายงานมอบให้ผู้ป่วย หรือเพียงสแกน QR CODE ก็สามารถอ่านผลได้ทันทีบนสมาร์ทโฟน

ADDWISE ช่วยพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษา

  • DOCTOR: Quality Of Diagnosis ลดเวลาการจดบันทึกประวัติผู้ป่วย
    แสดงผลตรวจได้ครอบคลุม รู้ปัจจัยเสี่ยงโรคได้ตรงจุด
  • PATIENT: Quality Of Care Plan รับทราบข้อมูลสภาวะสุขภาพ ประวัติการตรวจรักษาแบบอัปเดต
  • NURSE: Quality Of Screening ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก
    ให้ผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • IT & MARKETING: Quality Of Information นำข้อมูลมาพัฒนา
    การให้บริการลูกค้าเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น
          โปรแกรม ADDWISE เริ่มระบบการใช้งานมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยนำร่องใช้งาน ในคลินิกอายุกรรรม คลินิกตรวจสุขภาพ ศูนย์หัวใจ ศูนย์เบาหวานและศูนย์ศัลยกรรมของโรงพยาบาล พญาไท 2 และโรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน ซึ่งภายในปีนี้มีแผนพัฒนาโปรแกรมให้สามารถประเมินความเสี่ยงโรคอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงขยายใช้งานภายในโรงพยาบาลในเครือพญาไท-เปาโลสาขาอื่น ๆ  ซึ่งคัดกรองสุขภาพผู้ป่วยมาแล้วกว่า 1,000 คน โดยส่วนใหญ่โปรแกรมจะแนะนำให้ตรวจ ECHO, EKG และ EST เพิ่มเติม
          แม้โปรแกรม ADDWISE จะไม่ใช่การตรวจวินิจฉัยโรคโดยตรง แต่มีส่วนช่วยในการแจ้งเตือนความเสี่ยงโรคและส่งต่อผู้ป่วยไปยังผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในแผนกต่าง ๆ เพื่อตรวจสุขภาพเชิงลึกและคอยเฝ้าระวังก่อนพบภาวะรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี
          หากมีความประสงค์รับทราบผลประเมินความเสี่ยงสุขภาพจากโปรแกรม ADDWISE สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ คลินิกที่รับบริการ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Phyathai Call Center 1772

The Art of Salads จัดจานสลัดในดวงใจ Healthy ได้ไม่ยาก

สลัด (Salad) มาจากภาษาละติน คือ Herbasalta มีความหมายว่า ผักรสเค็ม นิยมปรุงด้วยเกลือ หรือน้ำมันมะกอกและน้ำส้มสายชู จึงเกิดเป็นรสเค็ม เมนูที่ทำได้ง่าย ๆ นี้ถูกคิดค้นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 แม้ว่าในดั้งเดิมถูกจัดเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย (Appetizer) ในปัจจุบันมักถูกเสิร์ฟเป็นจานแรก (Starter) และได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ และปรุงด้วยส่วนประกอบที่หลากหลายกว่าเดิม หากเราเลือกใส่วัตถุดิบที่เหมาะสมใน 1 จาน ก็จะได้คุณค่าสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายแบบครบถ้วนแน่นอน

ประโยชน์ของสลัด

  • มีสารอาหารบำรุงร่างกาย
  • กระตุ้นการขับถ่าย
  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก

The Elements of a Perfect Salad

สลัด 1 ชาม ให้พลังงาน ประมาณ 150 – 250 กิโลแคลอรี

  • Base ปริมาณผักเทียบเท่า 1 ถ้วยตวง จะให้พลังงานประมาณ 25 กิโลแคลอรี แต่มีคาร์โบไฮเดรต ใยอาหารสูง แนะนำให้เลือกผักใบพลังงานต่ำ เช่น ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว ผักโขม ผักคอส กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก
  • Body นิยมเลือกใส่เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เป็นแหล่งของโปรตีน โดย 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 100 – 250 กิโลแคลอรี เช่น เนื้ออกไก่ เนื้อหมู เนื้อปลาทูน่า เนื้อปลาแซลมอน หรือไข่ต้ม 1 ฟอง ให้พลังงาน 70 กิโลแคลอรี อาจเสริมด้วยผลไม้ชนิดต่างๆ ที่ใส่ในจานสลัดเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน
  • Garnish วัตถุดิบตกแต่งทำให้น่ากินมากขึ้น ช่วยเพิ่มไขมันดีและวิตามิน นิยมใส่ประเภทถั่วและธัญพืช เช่น เมล็ดงา เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ ถั่วแดง ลูกเดือย ควินัว อโวคาโด เมล็ดข้าวโพด โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงานประมาณ 10 กิโลแคลอรี
  • Dressing น้ำสลัดทั้งแบบน้ำใสและแบบครีมข้น เลือกใส่ตามความชอบ หากเป็นน้ำสลัดครีมอาจมีพลังงานสูงถึง 400 กิโลแคลอรี ควรเลือกใส่น้ำสลัดในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอาจมีน้ำตาลและโซเดียมสูงได้

เวลลี่แนะนำ3 น้ำสลัด ไขมันต่ำ

  • น้ำสลัดงา ให้พลังงาน 15 กิโลแคลอรี ต่อ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสลัดบัลซามิก ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี ต่อ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสลัดแบบใส ให้พลังงาน 35 กิโลแคลอรี ต่อ 1 ช้อนโต๊ะ

ผักต่างสีมีประโยชน์ต่างกัน

  • สีแดง มีไลโคปีน บำรุงสายตา หัวใจ หลอดเลือด
  • สีม่วง สารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงอุดตันในเส้นเลือด
  • สีเหลือง มีเบต้า-แคโรทีน ฟลาโวนอยด์ วิตามีนซี บำรุงหัวใจ หลอดเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน
  • สีเขียว มีลูทีน บำรุงสายตา
  • สีขาว มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์

รู้วิธีเลือกวัตถุดิบในการจัดจานสลัดให้ได้คุณค่าสารอาหารครบถ้วนกันแล้ว กินสลัดครั้งต่อไป ลองจัดจานตามที่แนะนำ แต่อย่าซีเรียสเรื่องปริมาณพลังงานที่ได้รับมากจนเกินไป แค่เพิ่มความใส่ใจตอนเลือกวัตถุดิบมากขึ้น รับรองว่าอิ่มท้องแบบสุขภาพดีแน่นอน

เรียบเรียงข้อมูลจาก
• องค์ประกอบของสลัด โดย เพจ สาระดีดี SALAD : D
• สลัด…จานแรกที่คิดถึง โดย เว็บไซต์ posttoday.com
• พลังงานและสารอาหารจาก สลัดผัก โดย เว็บไซต์ calforlife.com

FIBER POWER กินไฟเบอร์ ดีต่อใจ ดีต่อลำไส้

คุณสุภาสินี ศิลป์สาคร
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ โรงพยาบาลพญาไท 1

หลายคนคงเคยได้ยินว่า หากไปกินอาหารประเภทปิ้งย่างหรือชาบูที่เน้นกินเนื้อสัตว์เป็นหลัก เราควรกินผักและผลไม้ควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการทำงานของระบบลำไส้และระบบขับถ่ายได้ดีขึ้น ซึ่งผักและผลไม้นี้จัดอยู่ในอาหารประเภทที่มีกากใยหรือไฟเบอร์ (Fiber) ซึ่งเป็นตัวช่วยปรับสมดุลร่างกายได้อีกวิธีหนึ่ง แต่การกินให้เพียงพอต่อความต้องการและกินให้เหมาะสมต้องกินอย่างไรบ้าง The Selection พาทุกคนมาทำความรู้จักกับไฟเบอร์ไปพร้อมกัน

ลำไส้ทำงานดี เพราะมีไฟเบอร์

ใยอาหารหรือไฟเบอร์ (Fiber) คือ คาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เป็นกากอาหารของพวกพืช ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วเปลือกเข็งและเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้ของมนุษย์ไม่สามารถย่อยสลายได้ ดังนั้น ใยอาหารจึงถูกขับออกมากับอุจจาระ มี 2 ชนิด ดังนี้

ใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble dietary fiber)

ได้แก่ เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ย่อยสลายได้ยาก ดูดซับสารต่างๆ ได้น้อย แต่จะรวมตัวกับน้ำแล้วเกิดการพองตัวคล้ายฟองน้ำ เป็นกากใย ทำให้อิ่มเร็ว กระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวได้ดี เพิ่มมวลอุจจาระ ขับถ่ายได้สะดวก

ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ (Soluble dietary fiber)

ได้แก่ กัม เพคติน และมิวซิเลจส์ ละลายน้ำได้ดี มักปนกับส่วนที่เป็นแป้งในพืช สามารถรวมตัวกับน้ำในปริมาณมาก เกิดการกระจายโครงสร้างที่อัดแน่น ทำให้ดูดซับสารได้หลายอย่าง ช่วยชะลอและลดการดูดซึมน้ำตาลในเลือด

กินไฟเบอร์ยังไง ให้ดีกับร่างกายทุกวัน

ปริมาณที่แนะนำคือ 25 กรัมต่อวัน

  •  กินไฟเบอร์จากแหล่งธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ขัดสีน้อย ถั่ว เมล็ดแห้ง และผักต่างๆ
  • เพิ่มผักทุกมื้ออาหาร เช่น กินแกงใส่ผักหรือผัดผัก ใส่ผักใบเขียวในสลัด
  • สังเกตจากฉลาก เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุคุณค่าทางโภชนาการ ว่ามีไฟเบอร์สูง

เวลลี่แนะนำผลไม้ไฟเบอร์สูง

กล้วย ส้ม แอปเปิล ชมพู่ ฝรั่ง

ไฟเบอร์ชนิดผง มีประโยชน์จริงมั้ย?

แม้จะช่วยให้อิ่มเร็ว ดีต่อระบบการขับถ่ายและการย่อยอาหาร แต่ร่างกายอาจได้รับวิตามินและแร่ธาตุน้อย หากเลือกกินไฟเบอร์ชนิดผงในรูปแบบของอาหารเสริม ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนโดยแนะนำให้ดื่มน้ำร่วมด้วย อย่างน้อย 1.5 – 2 ลิตรต่อวัน เนื่องจากไฟเบอร์จำเป็นต้องอาศัยน้ำในการช่วยให้พองตัว หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้ไฟเบอร์จับตัวเป็นก้อนแข็งและอุดตันลำไส้ได้

กินไฟเบอร์มากไปไม่ดีนะ!

อาจท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร